โลโก้เว็บไซต์ กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการ RMUTL-STEAM3 สถานศึกษาเครือข่ายใหม่  | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการ RMUTL-STEAM3 สถานศึกษาเครือข่ายใหม่

เผยแพร่เมื่อ : พุธ 4 กันยายน 2562 โดย ชลาลัย กมลคุณาชัย จำนวนผู้เข้าชม 1815 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

วันที่ 4 กันยายน 2562 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก จัดกิจกรรมการสรุปและแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการล้านนาตาก เรียนรู้วิทย์ คิดสร้างสรรค์ เสริมสร้างเทคโนโลยี (RMUTL-STEAM3) สำหรับสถานศึกษาเครือข่ายใหม่ ประจำปี 2562 ประกอบด้วยโรงเรียนนาโบสถ์พิทยาคม โรงเรียนสามเงาวิทยาคม โรงเรียนยกกระบัตรวิทยาคม และโรงเรียนบ้านตาก "ประชาวิทยาคาร" นอกจากนี้มีโรงเรียนเครือข่ายเก่า ประกอบด้วยโรงเรียนวังประจบวิทยาคม และโรงเรียนผดุงปัญญา เข้าร่วมการประชุม

ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ ดร.สนธยา ทองอรุณศรี ผู้ช่วยอธิการบดี ได้นำเสนอผลการดำเนินงานโครงการล้านนาตาก เรียนรู้วิทย์ คิดสร้างสรรค์ เสริมสร้างเทคโนโลยี (RMUTL-STEAM3) ซึ่งในปีงบประมาณ 2562 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก ได้ดำเนินโครงการโดยมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์ของกลุ่มเป้าหมายให้สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ กิจกรรมพัฒนาครูเพื่อส่งเสริมศักยภาพในการสอน และกิจกรรมพัฒนานักเรียนเพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านวิชาการ ด้านทักษะชีวิต และด้านคุณภาพจริยธรรม ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบ STEAM3 ประกอบด้วย 5 กิจกรรมหลักดังนี้

กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการครูพี่เลี้ยงสำหรับอาจารย์ใน มทร.ล้านนา ตาก มีคณาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร และคณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ เข้าร่วมกิจกรรม 

กิจกรรมที่ 2 ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ครูในสถานศึกษาเครือข่ายใหม่ 4 แห่ง ประกอบด้วย โรงเรียนสามเงาวิทยาคม โรงเรียนยกกระบัตรวิทยาคม โรงเรียนบ้านตาก "ประชาวิทยาคาร" และโรงเรียนนาโบสถ์พิทยาคม เพื่อให้เรียนรู้และส่งเสริมศักยภาพในการสอนให้เป็นพี่เลี้ยงผ่านการเรียนรู้แบบ STEAMนอกจากนี้มีนักศึกษาสาขาครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.ล้านนา ตาก เข้าร่วมโครงการด้วย 

กิจกรรมที่ 3 กิจกรรมการใช้ระบบควบคุมหุ่นยนต์ด้วยเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ แก่สถานศึกษาเครือข่ายเก่า 10 แห่ง 

กิจกรรมที่ 4 การแข่งขันและการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ ประกอบด้วยกิจกรรมย่อย 2 กิจกรรม ดังนี้
 - การแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์ด้วยเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ รอบแรก จัดขึ้นภายในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 18-19 สิงหาคม ณ มทร.ล้านนา ตาก และจัดการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศเมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา ณ โรงเรียนตากพิทยาคม 
 - การนำเสนอโครงงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่สามารถใช้องค์ความรู้ต่างๆ ในรูปแบบบ STEAM3 โดยมีคณาจารย์ที่เป็นคณะกรรมการให้ข้อเสนอแนะโครงงานสิ่งประดิษฐ์ และนำโครงงานไปสร้างสรรค์แล้วนำผลงานเข้าร่วมการประกวดผลงานภายในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 18-19 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้ทีมที่ชนะเลิศการประกวดได้แก่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 55 จังหวัดตาก ในผลงานที่ชื่อว่า "ราวตากผ้าอัจฉริยะ IOT" รองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่โรงเรียนตากพิทยาคม ชื่อผลงาน "เครื่องให้อาหารและน้ำแก่สัตว์เลี้ยงด้วยระบบแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ" รองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ โรงเรียนผดุงปัญญา ชื่อผลงาน "อุปกรณ์ควบคุมการเติมน้ำและสารละลายแก่ผักสลัด (เรดโอ๊ค) โดยการปลูกแบบไฮโดรโปนิก"

กิจกรรมที่ 5 การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ STEAM3 ในสถานศึกษาเครือข่ายใหม่ โดยให้ครูในโรงเรียนเครือข่ายใหม่ที่ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการครูพี่เลี้ยงจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ STEAM3 ให้แก่นักเรียนในสถานศึกษาตนเอง โดยครูจะต้องดำเนินการตามกระบวนการด้วยตนเองตั้งแต่การกำหนดโจทย์ วัสดุอุปกรณ์ กติกา และหลักเกณฑ์การให้คะแนน ซึ่งสถานศึกษาเครือข่ายใหม่ทั้ง 4 แห่งได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย และนำมาสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนี้ เพื่อที่จะได้นำข้อมูลต่างๆ มาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน และจะได้นำไปพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

หลังจากนั้นโรงเรียนเครือข่ายใหม่ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดกิจกรรม RMUTL-STEAM3 ในระดับชั้นเรียน โดยรายงานผลการดำเนินงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงปัญหาอุปสรรคที่พบเจอในการจัดกิจกรรม พร้อมให้ข้อเสนอแนะสำหรับนำไปปรับใช้ด้วย

นอกจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดกิจกรรมครั้งนี้แล้ว ยังมีการมอบรางวัลต่างๆ ให้แก่โรงเรียนเครือข่ายเก่าและเครือข่ายใหม่ ประกอบด้วย
1. รางวัลการแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์ด้วยเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ ดังนี้
 - รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนผดุงปัญญา
 - รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนวังประจบวิทยาคม
 - รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนตากพิทยาคม

2. รางวัลสถานศึกษาที่่นำเสนอผลงานได้ดีเด่น ได้แก่
 - โรงเรียนยกกระบัตรวิทยาคม และ โรงเรียนสามเงาวิทยาคม

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการล้านนาตาก เรียนรู้วิทย์ คิดสร้างสรรค์ เสริมสร้างเทคโนโลยี (RMUTL-STEAM3) มหาวิทยาลัยฯ เล็งเห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะนำวิธีการสอนไปพัฒนาคุณภาพนักเรียน นักศึกษา ผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบ STEAM3 ตลอดจนได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาระดับต่างๆ ในท้องถิ่น ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาพี่เลี้ยงจะได้นำทรัพยากร ตลอดจนความรู้ความเชี่ยวชาญทางวิชาการและเทคโนโลยีไปช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้แก่สถานศึกษาเครือข่าย สอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการต่อไป







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา