โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนาร่วมกับสหกรณ์ฯเชียงใหม่ และสหกรณ์ฯจอมทอง ขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจสหกรณ์การเกษตร ยกระดับผลผลิต และแก้หนี้ภาคครัวเรือนด้วยเทคโนโลยี  | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

มทร.ล้านนาร่วมกับสหกรณ์ฯเชียงใหม่ และสหกรณ์ฯจอมทอง ขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจสหกรณ์การเกษตร ยกระดับผลผลิต และแก้หนี้ภาคครัวเรือนด้วยเทคโนโลยี

เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 8 กันยายน 2566 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 893 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

มทร.ล้านนาร่วมกับสหกรณ์ฯเชียงใหม่ และสหกรณ์ฯจอมทอง ขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจสหกรณ์การเกษตร ยกระดับผลผลิต และแก้หนี้ภาคครัวเรือนด้วยเทคโนโลยี

   วันศุกร์ที่ 8 กันยายน 2565 ผู้ช่วยศาสตราจารย์นพพร พัชรประกิติ ผู้อำนวยการ และบุคลากรจากสถาบันวิจัยและพัฒนา  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหารือแนวทางการยกระดับธุรกิจลำไย ของสหกรณ์การเกษตรจอมทอง จำกัด ณ สำนักงานสหกรณ์เกษตรจอมทอง จำกัด อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ วัตถุประสงค์ของการจัดประชุมเพื่อให้เกิดแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจรวบรวมผลผลิตลำไยและการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มรายได้แก่สมาชิกสหกรณ์ฯ  โดยมีนายธีระทรัพย์ วงศ์ยุพล ประธานกรรมการฯ เป็นประธาน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ศักดิ์ จักรกรณ์ ที่ปรึกษาสหกรณ์ฯ ร่วมแลกเปลี่ยนให้ข้อมูล การประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมจาก 3 ภาคส่วน ประกอบด้วย สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ สหกรณ์การเกษตรจอมทอง จำกัด และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา รวม 29 คน

     สหกรณ์การเกษตรจอมทอง จำกัด ได้รับการจดทะเบียนสหกรณ์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2519 มีคณะกรรมการดำเนินงานปัจจุบันรวม 9 คน ฝ่ายจัดการสหกรณ์จำนวน 10 คน ดำเนินธุรกิจหลัก 5 ด้าน คือ ธุรกิจเงินรับฝาก ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจจัดการสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจรวบรวมผลผลิตจากสมาชิก ธุรกิจแปรรูป ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 1,852 คน มีพื้นที่คาบเกี่ยว 2 อำเภอ คือ อำเภอจอมทองและอำเภอดอยหล่อ ครอบคลุม10 ตำบล สมาชิกส่วนใหญ่ทำการเกษตรปลูกลำไยและเป็นพื้นที่ผลิตลำไยทั้งสิ้นกว่า 243,865 ไร่ นับได้ว่าอันดับ 1 ของจังหวัดเชียงใหม่ มีผลผลิตประมาณ 83,000 ตัน/ปี (1 ไร่ ปลูกได้ 20 ตัน) ได้ผลผลิตโดยเฉลี่ย 2,500 กิโลกรัม/ไร่ สมาชิก 1 ราย/พื้นที่ 5 ไร่ โดยผลผลิตในฤดูจะออกสู่ตลาดก่อนอำเภออื่นๆ ซึ่งการผลิตลำไยของเกษตรกรในปัจจุบันนั้นจะแบ่งพื้นที่การผลิตของตนเองทำนอกฤดูหลีกเลี่ยงปัญหาตลาดในช่วงผลผลิตตามฤดูกาล แบ่งเป็นผลิตในฤดูร้อยละ 60 นอกฤดูร้อยละ 40 โดยลำไย สายพันธุ์หลักที่ปลูกคือ อีดอ ที่จะมีลักษณะเด่นคือลูกโต เนื้อหนา เม็ดในเล็ก กรอบ อร่อย ไม่ฉ่ำน้ำ

     การประชุมทำให้ทราบว่า จุดแข็งของสหกรณ์การเกษตรจอมทอง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการผลิตลำไยที่มีคุณภาพสูง มีอัตลักษณ์ คุณภาพผลผลิตลำไยสูง สอดคล้องกับความต้องการของตลาด บุคลากรมีประสบการณ์ในการรวบรวมลำไย  แต่ก็ยังพบจุดอ่อนทั้งระบบยังขาดองค์ความรู้ด้านการยึดอายุผลผลิตทางการเกษตรคือลำไย การเก็บรักษา ผลผลิต ความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการตลาดที่ยังต้องการหนุนเสริม การขาดสภาพคล่องทางด้านการเงินที่เพียงพอ ตลอดจนถึงขีดความสามารถในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร จึงทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคจากการดำเนินงานทางธุรกิจ ที่จำเป็นต้องได้รับการหนุนเสริมจากสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะตลาดหลักคือภายในประเทศและต่างประเทศ แต่ภาพรวมของการตลาดจะมีข้อจำกัดคือการไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตได้ รวมถึงปัญหาการขายลำไยอบแห้งที่มีการผูกขาดทางด้านธุรกิจของทุนใหญ่ โดยภาครัฐเองก็มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว

     ทั้งนี้ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้นำเสนอองค์ความรู้ เทคโนโลยี ข้อมูลสำคัญ ที่เกิดจากกระบวนการวิจัย ค้นคว้า ของอาจารย์ นักวิจัย จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตลอดถึงการประยุกต์ใช้แนวคิด BCG เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตลำไยของเกษตรกร สำหรับการดำเนินธุรกิจ ที่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่สหกรณ์การเกษตรจอมทอง จำกัด ร่วมกัน

(ขอบคุณภาพและข้อมูล : เครือข่ายงานสื่อสารองค์กร สวพ.มทร.ล้านนา)






ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา