โลโก้เว็บไซต์ กิจกรรม “การประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของงานวิจัย” | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

กิจกรรม “การประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของงานวิจัย”

เผยแพร่เมื่อ : พุธ 14 กุมภาพันธ์ 2567 โดย พลอยภิญญา สุภาพรเหมินทร์ จำนวนผู้เข้าชม 495 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.อุเทน คำน่าน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบอย่างยั่งยืน ให้เกียรติเป็นประธานเปิดกิจกรรม “การประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของงานวิจัย” ระหว่างวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมสรีเวียงพิงค์ เชียงใหม่ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

กิจกรรม “การประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของงานวิจัย” มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้พื้นฐานในการวัดผลลัพธ์ทางสังคม และการคำนวณผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน และเพื่อให้นักวิจัยนำความรู้ที่ได้ไปวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนของงานวิจัย ซึ่งผลการวิจัยที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยอื่นๆ และต่อมหาวิทยาลัยในการนำไปใช้ประกอบการพิจารณาสนับสนุนงบประมาณทุนวิจัยที่เหมาะสม

ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จารึก สิงหปรีชา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้การประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของงานวิจัย

"การลงทุนในงานวิจัย" เป็นการลงทุนทางสังคมที่มีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรในประเทศ ตลอดจนการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ด้วยงบประมาณทุนวิจัยที่มีจำกัดทำให้รัฐบาลและหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยต้องมั่นใจว่างบประมาณทุนที่จัดสรรให้แก่โครงการวิจัยต่างๆ ถูกนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ และก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม และส่ิ่งแวดล้อมที่คุ้มค่า

จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำการประเมินว่าโครงการวิจัยหรือชุดโครงการวิจัยที่นักวิจัยได้รับการสนับสนุนงบประมาณทุน การวิจัย และดำเนินการวิจัยเสร็จสิ้นไปแล้วนั้นมีความคุ้มค่าในการลงทุนหรือไม่ รวมถึงนำไปใช้ประโยชน์โดยกลุ่มเป้าหมายใดบ้าง ตลอดจนส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไร ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายสนับสนุนการวิจัยที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป

กิจกรรมในครั้งนี้ มีคณาจารย์ บุคลากร จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร และจากเขตพื้นที่ เชียงราย น่าน ลำปาง ตาก และพิษณุโลก

 

ข้อมูล/ภาพ  กลุ่มงานบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม สถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ล้านนา







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา