โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา ผนึกเชียงใหม่-ทีเส็บ ดัน “เชียงใหม่” สู่เวทีประชุมนานาชาติระดับโลก ขยับอันดับพุ่งทะยาน | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

มทร.ล้านนา ผนึกเชียงใหม่-ทีเส็บ ดัน “เชียงใหม่” สู่เวทีประชุมนานาชาติระดับโลก ขยับอันดับพุ่งทะยาน

เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 22 พฤษภาคม 2568 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 32 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

          คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จับมือจังหวัดเชียงใหม่ และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ (TCEB) เดินหน้าผลักดัน “เชียงใหม่” ก้าวขึ้นสู่เวทีเมืองประชุมนานาชาติ โดยในรายงานล่าสุดจาก สมาคมการจัดประชุมนานาชาติ (International Congress and Convention Association: ICCA) ประจำปี 2567 ระบุว่า เชียงใหม่ขยับขึ้นสู่อันดับที่ 14 ของอาเซียน อันดับที่ 44 ของเอเชียแปซิฟิก และอันดับที่ 199 ของโลก จากเมืองทั้งหมดกว่า 1,500 เมืองที่ได้รับการจัดอันดับ

          ผลการจัดอันดับใน ICCA Ranking Report 2024 อ้างอิงจากการจัดประชุมนานาชาติทั่วโลกกว่า 11,000 งาน ตลอดปี 2567 โดยระบุว่า ภูมิภาคเอเชีย ยังคงโดดเด่นเป็นลำดับที่ 2 รองจากยุโรป และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในเวทีงานประชุมระดับโลก

           ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างโดดเด่นในเวทีการจัดประชุมนานาชาติ โดยขยับขึ้นสู่อันดับที่ 25 ของโลก จากจำนวนประเทศที่ได้รับการจัดอันดับทั้งหมด 160 ประเทศ ด้วยจำนวนงานประชุมนานาชาติที่ผ่านเกณฑ์ของ ICCA รวมทั้งสิ้น 158 งาน ส่งผลให้ประเทศไทยครองตำแหน่งผู้นำในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และอยู่ในลำดับที่ 5 ของภูมิภาคเอเชีย

           ขณะเดียวกัน กรุงเทพมหานครได้รับการจับตามองในฐานะศูนย์กลางการจัดประชุมนานาชาติ โดยสามารถทำสถิติใหม่ ขึ้นแท่นเมืองยอดนิยมอันดับที่ 7 ของโลก สำหรับการจัดประชุมนานาชาติ อีกทั้งยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่มีจำนวนงานประชุมนานาชาติมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และอยู่ในลำดับที่ 25 ของเมืองทั่วโลก

         ความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา ภาครัฐ และองค์กรระดับชาติอย่าง ทีเส็บ ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของ “เชียงใหม่” ให้พร้อมรองรับการจัดงานประชุมนานาชาติในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ระดับสากลของประเทศ






ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon