โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา หารือแนวทางดำเนินโครงการอินทนนท์โมเดล ครั้งที่ 3/2565 | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

มทร.ล้านนา หารือแนวทางดำเนินโครงการอินทนนท์โมเดล ครั้งที่ 3/2565

เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 6 พฤษภาคม 2565 โดย รัตนาภรณ์ สารภี จำนวนผู้เข้าชม 894 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

 

วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิสิษฐ์ วิมลธนสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายแผน นโยบายและยุทธศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นทีชัย ผัสดี รองผู้อำนวยการสถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน อาจารย์วิสุทธิ์ บัวเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านงานบริการวิชาการ และคณะทำงาน ร่วมหารือแนวทางการดำเนินงานโครงการอินทนนท์โมเดล ครั้งที่ 3/2565 กับพลเอกธนยศ พริ้งทองฟู ที่ปรึกษามูลนิธิ และ รศ.ดร.ศักดิ์ดา จงแก้ววัฒนา ประธานมูลนิธิมูลนิธิวิจัยและพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิต ณ ห้องประชุมกาสะลอง ชั้น 2 สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (ดอยสะเก็ด)

 

มูลนิธิวิจัยและพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิต โดย พลเอกธนยศ พริ้งทองฟู ที่ปรึกษามูลนิธิ และ รศ.ดร.ศักดิ์ดา จงแก้ววัฒนา ประธานมูลนิธิมูลนิธิวิจัยและพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิต เข้าร่วมหารือกับผู้ช่วยศาสตราจารย์พิสิษฐ์ วิมลธนสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายแผน นโยบายและยุทธศาสตร์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นทีชัย ผัสดี รองผู้อำนวยการสถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน อาจารย์วิสุทธิ์ บัวเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านงานบริการวิชาการและคณะทำงาน ให้การต้อนรับ

 

ในการนี้พลเอกธนยศ พริ้งทองฟู ที่ปรึกษามูลนิธิวิจัยและพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิต ได้นำเสนอ โครงการต้นแบบ พัฒนาดิน น้ำ ป่าและคุณภาพชีวิตราษฎรเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ นำร่องที่บ้านไร่ดง หมู่ที่ 20 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฟื้นฟูลุ่มน้ำกว๋าว บริเวณหย่อมบ้านไร่ดง หมู่ 20 บ้านน้ำตกแม่กลาง ในโครงการพื้นที่ต้นแบบคอยอินทนนท์ (อินทนนท์โมเดล) โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 

  1. เพื่อให้ราษฎรเกษตรกรและเจ้าหน้าที่หน่วยงานองค์กรภาคส่วนต่างๆ ได้รับประสบการณ์การพัฒนาเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ ครอบคลุมทั้งด้านการฟื้นฟูรักษาทรัพยากรดินป่าน้ำ การใช้ประโยชน์ที่ดินทำเกษตรทางเลือก สร้างรายได้ตามวิถีหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้แก่ราษฎรเกษตร และเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองและเอื้ออาทรต่อกัน
  2. เพื่อเสริมสร้างระบบป่าเปียกและแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตรให้แก่ ชุมชนและสำนักสงฆ์ โดยใช้ประโยชน์จากฝายต้นน้ำลำธารตามแนวพระราชดำริและเทคโนโลยีน้ำยางสดผสม
  3. เพื่อส่งเสริมการทำเกษตรปลอดสารพิษด้วยสารชีวภาพปุ๋ยธรรมชาติที่แสวงหาได้ในพื้นที่ แต่ต้นทุนการผลิตภาคการเกษตรและส/เลิกการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย
  4. เพื่อให้เกิดแหล่งเรียนรู้ต้นแบบขับเคลื่อนขยายผลการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบบูรณาการด้วยหลัก "บวร"

การดำเนินงาน ประกอบด้วย 4 รายการหลัก คือ

  1. การพัฒนาระบบน้ำด้วยข่ายฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริและที่กักเก็บน้ำเทคโนโลยีผ้าฝ้ายดิบเคลือบน้ำยางสดผสม
    1. ฝ่ายต้นน้ำลำธารดินซีเมนต์รูปแบบของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจาก พระราชดำริ บริเวณลำห้วยและลำห้วยแขนง(ศาลา ผักหละ ตาดำ ลี้ ) จำนวน 28 ฝ่าย
    2. ฝายน้ำล้นซีเมนต์โครงสร้างไม้ไผ่แบบฝายหลวงแนวลำน้ำแม่กว๋าว จำนวน 5 ฝ่าย
    3. สระกักเก็บน้ำเทคโนโลยีผ้าฝ้ายดิบเคลือบน้ำยางสดผสมแนวลำน้ำแม่กว๋าว จำนวน 2 สระ 
    4. อ้างยางพาราสำเร็จรูปขนาด ยาว 4 เมตร กว้าง 2 เมตร ลึก 1 เมตร สำหรับขยายพื้นที่ใช้น้ำการเกษตรชุมชน จำนวน 4 อ่าง เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชุมชน จำนวน 2 อ่าง และแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่ารวมถึงการดับไฟป่า จำนวน 6 อ่าง
  2. การประมวลจัดทำฐานข้อมูลระบบสารสนเทศเชิงภูมิศาสตร์ GIS ครอบคลุมพื้นที่แหล่งน้ำ ป่า ชุมชน ที่ดินทำกินของราษฎรเกษตรกร เพื่อรองรับการพัฒนาสู่ One Map และ Area-based Big Data ใน ระยะต่อไป
  3. การถ่ายทอดความรู้เกษตรทางเลือกที่ได้สมดุลกับการอนุรักษ์ดินน้ำป่า และการทำหัวเชื้อจุลินทรีย์ และสารชีวภาพ บำรุงพืชผักไม้ผลและกำจัดวัชพืช แมลงศัตรูพืช เลี้ยงสัตว์น้ำจืด 
  4. การสร้างแหล่งเรียนรู้การพัฒนาเชิงพื้นที่แบบบูรณาการที่วัดป่าธรรมธาราภิรมย์และชุมชน โดยยึด หลัก "บวร"

 

ที่ประชุมพิจารณาและเสนอข้อเพิ่มเติม โดย พลเอกธนยศ พริ้งทองฟู ที่ปรึกษามูลนิธิวิจัยและพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิต อยากให้ทางสถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ทำหน้าที่เป็นตัวช่วยและตัวเชื่อมกับคณะกรรมการพัฒนาแผนท้องถิ่นทางด้านดิจิทัล ด้านการบริหารจัดการภาพรวม ด้านเศรษฐกิจชุมชน ด้านสังคมและวัฒนธรรม ฯลฯ โดยฉพาะการพัฒนาข้อมูล GIS เพื่อให้ได้ One map แล้วนำไปสู่การทำ Area based Big Data ของชุมชน


มติที่ประชุม พบว่าโครงการต้นแบบ พัฒนาดิน น้ำ ป่าและคุณภาพชีวิตราษฎรเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ นำร่องที่บ้านไร่ดง หมู่ 20 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ นั้น จะดำเนินการโดยจะยกร่างคำสั่งคณะทำงานแผนพัฒนาโมเดลนำร่องในระดับจังหวัดดังอีกครั้ง เพื่อสามารถขับเคลื่อนกลไกในการทำงานในปัจจุบันและจะเข้าพบหารือกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ต่อไป

 

ข้อมูล เกรียงไกร ศรีประเสริฐ
ภาพ รัตนาภรณ์ สารภี
 







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา