โลโก้เว็บไซต์ รองนายกฯ ประจิน นำทีม สคช.ตรวจเยี่ยมศูนย์ทดสอบคุณวุฒิ ย้ำสาขาแม่พิมพ์ เป็นสาขาสำคัญของประเทศ เร่งผลิตกำลังคนจากมทร.ล้านนา ขอแรงช่วยกันประชาสัมพันธ์กิจกรรม | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

รองนายกฯ ประจิน นำทีม สคช.ตรวจเยี่ยมศูนย์ทดสอบคุณวุฒิ ย้ำสาขาแม่พิมพ์ เป็นสาขาสำคัญของประเทศ เร่งผลิตกำลังคนจากมทร.ล้านนา ขอแรงช่วยกันประชาสัมพันธ์กิจกรรม

เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 18 พฤษภาคม 2561 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 10220 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมลงพื้นที่มอบนโยบายในการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆในการพัฒนากำลังคนในสาขาวิชาชีพอุตสาหกรรมการผลิตแม่พิมพ์ในพื้นที่ภาคเหนือเพื่อการก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 ณ ห้องประชุม1 อาคารอำนวยการ มทร.ล้านนา จ.เชียงใหม่              วันที่ 18 พฤษภาคม 2561 เน้นย้ำ สาขาแม่พิมพ์เป็น 1 ใน 11 สาขาที่มีความที่มีความสำคัญของประเทศ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันพัฒนาช่วยกันประชาสัมพันธ์การดำเนินงาน คาดอนาคต มทร.ล้านนา สามารถขยายไปยังสาขาอื่นได้แน่นอน

 พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ลงพื้นที่   ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานขององค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพสาขาวิชาชีพอุตสาหกรรมการผลิตแม่พิมพ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา และรับฟังสรุปผลการดำเนินงานร่วมกันระว่าง สคช.และมทร.ล้านนา ซึ่งได้รับการรับรองให้เป็นองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ  4 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ 1.สาขาวิชาชีพแมคคาทรอนิกส์  ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 และมีผู้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาชีพจนถึงปัจจุบันจำนวน  332 คน 2.สาขาวิชาชีพอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 และมีผู้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาชีพจนถึงปัจจุบันจำนวน  145 คน 3.สาขาวิชาชีพบริการยานยนต์ ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 และมีผู้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาชีพจนถึงปัจจุบันจำนวน  21 คน 4. สาขาวิชาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและติจิตอลคอนเทนต์ ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 และมีผู้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาชีพจนถึงปัจจุบันจำนวน       11 คน  ซึ่งการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมครั้งนี้เป็นการประเมินสมรรถนะบุคคลตามอาชีพ สาขาวิชาชีพอุตสาหกรรมการผลิตแม่พิมพ์ สาขาอาชีพช่างผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์แม่พิมพ์ปั้มโลหะ คุณวุฒิวิชาชีพชั้น 3 ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนากำลังคนในสาขาวิชาชีพอุตสาหกรรมการผลิตแม่พิมพ์ในพื้นที่ภาคเหนือเพื่อก้าวสู่นโยบายประเทศไทย 4.0

 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประพัฒน์ เชื้อไทย รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยมีพันธกิจที่สำคัญคือการผลิตวิศวกรและครูที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติงานและสามารถทำงานได้ทั้งในและต่างประเทศมีทักษะตามมาตรฐานอาชีพ โดยได้ร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ในการเป็นองค์กรที่ดำเนินการประเมินสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพโดยได้ดำเนินการในสาขาแมคคาทรอนิกนิกส์เป็นสาขาแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 จนปัจจุบันได้มีการรับรองเพิ่มขึ้นใน   4 สาขาและได้วางเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรให้มีสมรรถนะในสาขาวิชาชีพที่ตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 และเตรียมบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมศักยภาพสูง First S Curve  และ New S Curve ในวันนี้เรานโยบายในการพัฒนาและสร้างผู้ประกอบออกสู่ตลาดที่เรียกว่า โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ราชมงคลล้านนาและความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือในโครงการเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกภาคเหนือ ซึ่งไม่เพียงแต่การผลิตบัณฑิตเท่านั้นแต่ยังเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ”

พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ในปัจจุบันหลายสถานประกอบการนั้นได้ให้ความสำคัญกับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพมากยิ่งขึ้นโดยในวันนี้ได้รับการรายงานผลการดำเนินงานซึ่งผลนั้นก็เป็นที่น่าพอใจแต่อยากให้มีการติดตามผลว่าบุคคลที่ผ่านการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพเหล่านั้นได้เข้าไปทำงานมากน้อยเพียงใดและทำงานตรงกับทักษะวิชาชีพของหรือไม่ ทั้งนี้ ในทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นจังหวัดที่ต้องเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจัง ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมที่จะต้องทำหน้าที่สะท้อนความต้องการออกไปสู่ภาคการศึกษาที่จะทำหน้าที่วิเคราะห์และปรับปรุงหลักสูตรให้มีความสอดคล้องและทันสมัย สุดท้ายจึงจะย้อนกลับมาที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพในเรื่องของการสนุนงบประมาณ อุปกรณ์ ซึ่งสิ่งสำคัญอีกประการก็คือการวิจัยและพัฒนาโดยต้องมีนักวิจัย นักวิชาการ ครูอาจารย์นำทฤษฎีต่างๆเข้าไปตอบโจทย์ ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องจับมือกันเพื่อร่วมกันพัฒนา อย่างต่อเนื่องจึงจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม”

พลอากาศเอกประจิน กล่าวต่ออีกว่า “วันนี้เรากลับมาถึงความจำเป็นว่า จำนวน 47 อาชีพนั้นมีส่วนไหนบ้างที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆโดยเอาความต้องการของตลาดเป็นตัวตั้งต้องสำรวจว่าหน่วยงานภาคประกอบการต้องการอะไร ที่จะเกี่ยวข้องกับ New S Curve ซึ่ง พบว่า แม่พิมพ์เป็น 1 ใน 11 สาขาที่เป็นความต้องการสูงสุดของประเทศนั้นเพราะจะเห็นได้ว่าเข้าไปมีส่วนสำคัญในการภาคการผลิตซึ่งก็ต้องฝากถึงทุกภาคส่วนว่าสิ่งที่เราต้องทำคู่กันก็คือการพัฒนาหลักสูตรและการประชาสัมพันธ์ให้สังคมได้รับรู้ถึงข้อดีของสิ่งที่ทำ คนเรียนแม่พิมพ์ จบแล้วสามารถออกไปทำอะไร สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นส่วนสำคัญอันจะนำไปสูการเป็น Thailand 4.0 ด้วย และขอยืนยันว่าใน 11 สาขาที่สำคัญของประเทศ มทร.ล้านได้ดำเนินการไปแล้วทั้ง4 สาขาอาชีพ หากเป็นไปได้ก็อยากให้ได้มีการขยายไปยังสาขาอื่นให้ครอบคลุมต่อไป”







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา